สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
Regional Customs Office IV
 

พระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช 2469

พระราชบัญญัติศุลกากร พระพุทธศักราช 2469

  1. มาตรา 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงตั้งหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสนาบดีตั้งบุคคลผู้สมควรขึ้นเป็นหัวหน้าจัดการงานในกรมศุลกากร และกำกับตรวจตรากิจการอันเป็นหน้าที่ของกรมนั้น บุคคลผู้นั้นซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า ?อธิบดี? ให้มีหน้าที่บังคับบัญชาควบคุมบรรดาพนักงานทั้งหลายในกรมศุลกากร มีอำนาจให้เงินเดือนและเงินรางวัล เรียกประกันสำหรับความประพฤติดี และออกข้อบังคับสำหรับกรมตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และบังคับการให้เป็นไปตามนั้น
  2. มาตรา 4 เพื่อความประสงค์แห่งการนำของเข้าหรือส่งของออกหรือนำของเข้าและส่งของออกและการศุลกากรให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง
    1. กำหนดท่าหรือที่ใด ๆ ในราชอาณาจักรให้เป็นท่าหรือที่สำหรับการนำเข้า หรือส่งออกหรือนำเข้าและส่งออกซึ่งของประเภทใด ๆ หรือทุกประเภททางทะเลหรือทางบก หรือให้เป็นท่าหรือที่สำหรับการส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้าหรือของที่มีทัณฑ์บน ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขตามแต่จะเห็นสมควร
    2. กำหนดสนามบินใด ๆ ในราชอาณาจักรให้เป็นสนามบินศุลกากรโดยมีเงื่อนไขตามแต่จะเห็นสมควร
    3. ระบุเขตศุลกากร ณ ท่าใด หรือที่ใด หรือสนามบินใดซึ่งได้กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น
  3. มาตรา 14 เมื่อของผ่านศุลกากร หรืออยู่ในความกำกับตรวจตราของศุลกากรด้วยประการใด ๆ ก็ดี พนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรคนหนึ่งคนใดจะให้เปิดหีบห่อและตรวจของนั้นในเวลาใด ๆ ก็ได้ พนักงานนั้นจะเอาตัวอย่างของใด ๆ ไปเพื่อตรวจหรือสอบ หรือตีราคา หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นก็ได้แล้วแต่จะเห็นว่าจำเป็น ตัวอย่างของนี้ต้องส่งให้โดยไม่คิดราคา และพนักงานนั้นจะเลือกเอาออกจากหีบห่อหรือส่วนใดแห่งของนั้นก็ได้ แต่ว่าตัวอย่างของเช่นนี้จะต้องเอาไปแต่เพียงขนาดหรือปริมาณพอสมควร และจะต้องเอาออกโดยวิธีอันจะทำให้เจ้าของเสียหายหรือลำบากอย่างน้อยที่สุดที่จะเป็นได้ และเมื่อไรสามารถจะคืนได้ ก็ให้คืนแก่เจ้าของไปโดยเร็ว
  4. มาตรา 40 ก่อนที่จะนำของใด ๆ ไปจากอารักขาของศุลกากร ผู้นำของเข้าต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกัน การขอวางเงินประกันให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
  5. ในกรณีที่มีการร้องขอและอธิบดีเห็นว่าของใดมีความจำเป็นที่จะต้องนำออกไปจากอารักขาของศุลกากรโดยรีบด่วน อธิบดีมีอำนาจให้นำของนั้นไปจากอารักขาของศุลกากรได้โดยยังไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่งก่อนแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และในกรณีที่อาจต้องเสียภาษีอากร ให้วางเงินหรือหลักประกันอย่างอื่นเป็นที่พอใจอธิบดีเพื่อเป็นประกันค่าภาษีอากรด้วย
  6. มาตรา 41 ถ้ามีความจำเป็นด้วยประการใด ๆ เกี่ยวด้วยการศุลกากรที่จะกำหนดเวลาเป็นแน่นอนว่า การนำของใดๆ เข้ามา จะพึงถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อไรไซร้ ท่านให้ถือว่าการนำของเข้ามาเป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งนำของเช่นนั้นได้เข้ามาในเขตท่าที่จะถ่ายของจากเรือ หรือท่าที่มีชื่อส่งของถึง
  7. มาตรา 45 ก่อนที่จะส่งของใด ๆ ออกนอกราชอาณาจักร ผู้ส่งของออกต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกัน การขอวางเงินประกันให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
  8. ในกรณีที่มีการร้องขอและอธิบดีเห็นว่าของใดมีความจำเป็นที่จะต้องส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยรีบด่วน อธิบดีมีอำนาจให้ส่งของนั้นออกไปได้โดยยังไม่ต้องปฏิบัติตามวรรคหนึ่งก่อนแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และในกรณีที่อาจต้องเสียภาษีอากร ให้วางเงินหรือหลักประกันอย่างอื่นเป็นที่พอใจอธิบดีเพื่อเป็นประกันค่าภาษีอากรด้วย
  9. มาตรา 46 ถ้ามีความจำเป็นด้วยประการใด ๆ เกี่ยวด้วยการศุลกากรที่จะกำหนดเวลาเป็นแน่นอนว่าการส่งของใด ๆ ออก จะพึงถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อไรไซร้ท่านให้ถือว่าการส่งของออกเป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งส่งของออก ได้ออกจากเขตท่าซึ่งได้ออกเรือเป็นชั้นที่สุดเพื่อไปจากพระราชอาณาจักรนั้น
  10. มาตรา 98 อธิบดีอาจเรียกประกันจากบุคคลคนเดียวหรือหลายคนซึ่งเกี่ยวเป็นผู้ได้ประโยชน์ในกิจการใด ๆ อันอยู่ในหน้าที่อำนวยการหรือบังคับบัญชาของกรมศุลกากร โดยให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ประกันอย่างอื่นจนเป็นที่พอใจเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไข คำสั่ง หรือกิจการอันเกี่ยวแก่ กรมศุลกากร หรือเนื่องจากกิจการที่กล่าวมานั้นได้ บรรดาทัณฑ์บนหรือประกันอย่างอื่นเช่นว่ามานี้ให้เป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมาย และถ้ากระทำผิดเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งแห่งทัณฑ์บนหรือประกัน ก็อาจยกขึ้นฟ้องร้องและว่ากล่าวต่อไปได้เหมือนเช่นประกันทัณฑ์บนอย่างใดๆ อันระบุหรืออนุญาตไว้ให้ทำได้ เรียกได้ตามพระราชบัญญัตินี้หรือบทกฎหมายอื่น ๆ ฉะนั้น บรรดาทัณฑ์บนเช่นว่ามานี้ให้ทำให้แก่และเพื่อได้แก่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอธิบดีพึงเพิกถอนเสียได้เมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันในทัณฑ์บน หรือถ้ามีกำหนดเวลาไว้ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในทัณฑ์บนเป็นประการใด ก็นับแต่กำหนดเวลานั้น
 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 18 ตุลาคม 2559 16:38:54
จำนวนผู้เข้าชม : 2,839
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
เลขที่ 5/4 ถนนชลเจริญ ตำบลบ่อยาง
อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 90000
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-7430-7039, 0-7430-7040
อีเมล์ : 75000000@customs.go.th

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
ลิขสิทธิ์ 2015 สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร