สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
Regional Customs Office IV
 

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา


                   สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ตั้งอยู่ที่บริเวณริมทะเลสาบสงขลา เลขที่ 45 ถนนนครใน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 90000 ที่ทำการเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงไทยโบราณเดิมใช้เป็นที่ทำการร่วมกับด่านศุลกากรสงขลา แต่ในปัจจุบันด่านศุลกากรสงขลาได้ย้ายไปอยู่ที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกจังหวัดสงขลา อาคารดังกล่าว จึงใช้เป็นที่ทำการของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 เพียงหน่วยงานเดียว

                   สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 เดิมเป็นส่วนราชการระดับกอง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2461 ภายหลังจากที่ได้โอนด่านเก็บภาษีในมณฑลปักษ์ใต้จาก กรมสรรพากร มาขึ้นกับกรมศุลกากร ในอดีตใช้ชื่อว่า  "ศุลกากรมณฑลนครศรีธรรมราช" เป็นส่วนราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในบังคับบัญชาของ "ศุลกากรมณฑลนครศรีธรรมราช"  ในขณะนั้นมีด่านศุลกากรในสังกัด คือ "ด่านศุลกากรบ้านดอน ด่านศุลกากรหลังสวน  ด่านศุลกากรชุมพร ด่านศุลกากรสงขลา   ด่านศุลกากรปากพนัง และด่านศุลกากรเกาะยาว" ต่อมาได้ผนวกรวมเข้ากับศุลกากรมณฑลปัตตานี ใช้ชื่อว่า "กองข้าหลวงตรวจการศุลกากรภาค 1" หัวหน้าส่วนราชการเรียกว่า "ข้าหลวงตรวจการศุลกากรภาค 1" และมีการเปลี่ยนชื่อและสังกัดดังนี้

                   ปี พ.ศ. 2505 เปลี่ยนชื่อส่วนราชการ เป็น "ศุลกากรเขต 1 สงขลา" หัวหน้าส่วนราชการเรียกว่า "ศุลกากรเขต 1" และได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "ที่ทำการศุลกากรเขต 1" หัวหน้าส่วนราชการยังคงเรียกว่า "ศุลกากรเขต 1" ซึ่งมีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค

                   ปี พ.ศ. 2516 เปลี่ยนเป็นราชการบริหารส่วนกลาง เรียกว่า "สำนักงานศุลกากรเขต 1" หัวหน้าส่วนราชการยังคงเรียกว่า "ศุลกากรเขต 1"

                   ปี พ.ศ. 2526 เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "สำนักงานศุลกากรภูมิภาคที่ 1" หัวหน้าส่วนราชการเรียกว่า "ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1"

                   ปี พ.ศ. 2533 ได้มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมศุลกากรกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2533 กระจายพื้นที่รับผิดชอบของศุลกากรภูมิภาค อออกเป็น 5 สำนักงาน และเป็นเหตุให้ สำนักงานศุลกากร-ภาคที่ 1 เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานศุลกากรภูมิภาคที่ 4" หัวหน้าส่วนราชการเรียกว่า "ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภูมิภาคที่ 4"

                   ปี พ.ศ. 2538 ได้มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2538 กำหนดราชการภายในกรมศุลกากรเป็น "สำนัก" และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4"  โดยมีตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสำนัก" เป็น หัวหน้าส่วนราชการ รับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ด้านฝั่งทะเลตะวันออก (อ่าวไทย) มีด่านศุลกากรในสังกัดรวม 14 ด่าน

                   ปี พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นการปรับตัวและสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาลในการปรับปรุง โครงสร้างส่วนราชการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารราชการ จึงได้มีประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่  28 ตุลาคม 2545 กำหนดและแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการ กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2543 กำหนด พื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบ 11 จังหวัดภาคใต้ทั้งด้านฝั่งทะเลตะวันออก และตะวันตก คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช , พัทลุง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, ภูเก็ต, พังงา, กระบี่, สตูลและตรัง โดยผนวกรวมพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 5 เดิม (ยกเลิกไปแล้ว) จำนวน 5 จังหวัดด้านฝั่งทะเลตะวันตก (ทะเลอันดามัน) เข้ามาไว้ในสังกัดซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันมีด่านในสังกัด เพิ่มเป็น 16 ด่าน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่  28 ตุลาคม  2545  เป็นต้นไปมา

                   ปี พ.ศ. 2559 สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 มีด่านศุลกากรในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ จำนวน 18 ด่าน ประกอบด้วย
                    1) ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์
                    2) ด่านศุลกากรสะเดา
                    3) ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก
                    4) ด่านศุลกากรสงขลา
                    5) ด่านศุลกากรท่าอากาศยานหาดใหญ่
                    6) ด่านศุลกากรภูเก็ต
                    7) ด่านศุลกากรท่าอากาศยานภูเก็ต
                    8) ด่านศุลกากรเบตง
                    9) ด่านศุลกากรตากใบ
                  10) ด่านศุลกากรสตูล
                  11) ด่านศุลกากรกันตัง
                  12) ด่านศุลกากรกระบี่
                  13) ด่านศุลกากรนครศรีธรรมราช
                  14) ด่านศุลกากรสิชล
                  15) ด่านศุลกากรปัตตานี
                  16) ด่านศุลกากรวังประจัน
                  17) ด่านศุลกากรบ้านประกอบ
                  18) ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา

ผลจากการปรับปรุงโครงสร้างดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมและเพิ่มบทบาทภารกิจของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4  ณ ปัจจุบันและอนาคตให้มีความสำคัญที่เพิ่มสูงยิ่งขึ้น มากกว่าอดีตที่ผ่านมา

 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 1 พฤศจิกายน 2566 16:27:29
จำนวนผู้เข้าชม : 23,918
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
เลขที่ 5/4 ถนนชลเจริญ ตำบลบ่อยาง
อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 90000
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-7430-7039, 0-7430-7040
อีเมล์ : 75000000@customs.go.th

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
ลิขสิทธิ์ 2015 สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร