สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
Regional Customs Office IV
 

ความเป็นมา

ความเป็นมา

พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) เป็นพื้นที่ใต้ทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างประเทศไทยและมาเลเซียในบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ซึ่งทั้งสองประเทศต่างอ้างสิทธิ์เหลื่อมล้ำกันทำให้พื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 7,300 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่พิพาทที่ประเทศทั้งสองไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์จากทรัพยากรแร่ธาตุในบริเวณนี้ได้ เว้นแต่ประเทศทั้งสองจะเจรจาทำความตกลงแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ประเทศไทยและมาเลเซียได้มีการเจรจาทำความตกลงเพื่อให้สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลบริเวณที่เหลื่อมล้ำร่วมกัน และในที่สุดก็ได้มีการลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 ใน ?บันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของประเทศทั้งสองในอ่าวไทย? (Memorandum of Understanding between Malaysia and the Kingdom of Thailand on the Establishment of the Joint Authority for the Exploitation of the Resources of the Sea Bed in a defined Area of the Continent Shelf of the Two Countries in the Gulf of Thailand) ทั้งนี้ โดยกำหนดให้พื้นที่ใต้ทะเลในบริเวณที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิในไหล่ทวีปซ้อนกันนั้นเรียกว่า ?พื้นที่พัฒนาร่วม?

ในปี 2537 องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ได้ลงนามให้สิทธิสัญญาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 ฉบับ แก่บริษัทเอกชนผู้ประกอบการในพื้นที่ JDA ซึ่งแบ่งพื้นที่สำรวจเป็น 2 พื้นที่ คือ แปลง A-18 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางกิโลเมตร และแปลง B-17 และ C-19 ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 4,250 ตารางกิโลเมตร กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการในแปลง A-18 คือ บริษัท Triton Oil จากประเทศไทย (50%) กับบริษัท Petronas Carigali จากประเทศมาเลเซีย (50%) ซึ่งบริษัททั้งสองได้จัดตั้งบริษัท Carigali-Triton Operating Company Sdn.Bhd.(CTOC) เป็นผู้ดำเนินงาน กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการในแปลง B-17 และ  C-19 คือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากประเทศไทย (50%) กับ บริษัท Petronas Carigali จากประเทศมาเลเซีย (50%) และจัดตั้งบริษัท Carigali?PTTEPI Operating Company Sdn.Bhd. (CPOC) เป็นผู้ดำเนินการ

ปี2542ได้มีการลงนามในสัญญาสำคัญ 2 ฉบับ คือ สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ แปลง A-18 จากพื้นที่ JDA ระหว่างองค์กรร่วม Petronas Carigali, Triton Oil,  Petronas และ ปตท. และสัญญาร่วมทุนระหว่าง ปตท. กับ Petronas ในการใช้ประโยชน์ก๊าซธรรมชาติจาก JDA ในโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย (TTM) และโรงแยกก๊าซ (GSP) ในเขต 5 จังหวัดภาคใต้ของไทย และรัฐตอนเหนือของมาเลเซีย

ในปี 2543 ปตท. และ Petronas ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด และ Trans Thai-Malaysia (Malaysia) Sdn. Bhd. ขึ้นในประเทศไทยและประเทศมาเลเซียตามลำดับ โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 เท่ากันในทั้งสองบริษัท เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อที่ได้จากแหล่ง JDA มาใช้ประโยชน์ในทั้งสองประเทศการผลิตก๊าซในแหล่ง JDA จะแบ่งการผลิตออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 แหล่ง A 18 จะขึ้นฝั่งที่มาเลเซียทั้งหมด โดยเริ่มดำเนินการส่งก๊าซธรรมชาติแล้ว เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2548 ระยะที่  2 ขึ้นฝั่งที่ไทยทั้งหมด โดยจะเริ่มต้นผลิตในปี 2551 เพื่อสอดรับกับการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย
 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 18 ตุลาคม 2559 10:52:55
จำนวนผู้เข้าชม : 23,957
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
เลขที่ 5/4 ถนนชลเจริญ ตำบลบ่อยาง
อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 90000
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-7430-7039, 0-7430-7040
อีเมล์ : 75000000@customs.go.th

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
ลิขสิทธิ์ 2015 สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร