สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
Regional Customs Office IV
 

ธรรมนูญและกฎหมายอนุวัติ

ธรรมนูญและกฎหมายอนุวัติการการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย

บันทึกความเข้าใจไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2522 นั้น เป็นความตกลงระหว่างประเทศ แต่ในการที่จะสามารถปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรร่วม ละที่สำคัญคือจะต้องมีการออกกฎหมายภายในแต่ละประเทศ เพื่อมารองรับให้เป็นไปตามความตกลง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จะต้องมีการออกกฎหมายอนุวัติการจัดตั้งองค์การร่วม ซึ่งกฎหมายที่แต่ละฝ่ายจะออกมาใช้นั้นจะต้องมีสาระสำคัญที่เหมือนกัน และมีผลบังคับใช้พร้อมกันด้วย

หลังจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว รัฐบาลของทั้งสองประเทศก็ได้มีการเจรจาต่อเนื่องกันมาอีกเป็นเวลา 11 ปี จึงได้ลงนามใน ?ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซีย ว่าด้วยธรรมนูญและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย? (Agreement Between the Government of Malaysia and the Kingdom of Thailand on the Constitution and Other Matters Relating to the Establishment of the Malaysia-Thailand Joint Authority) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2533

หลังจากนั้น ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2533 รัฐสภาของไทยและมาเลเซีย ก็ได้ให้ความเห็นชอบต่อกฎหมายอนุวัติการก่อตั้งองค์กรร่วมซึ่งต่อมาเมื่อได้มีพิธีแลกเปลี่ยนให้สัตยาบันสารในความตกลงว่าด้วยธรรมนูญฯ ข้างต้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2534 แล้ว จึงได้มีประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2533 พร้อมกันในทั้งสองประเทศแล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2534

สาระสำคัญของธรรมนูญและกฎหมายอนุวัติการจัดตั้งองค์กรร่วมฯ
  1. สถานะทางกฎหมายและการจัดองค์กร
    1. ให้องค์กรร่วมฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีภูมิลำเนาอยู่ในทั้งสองประเทศ
    2. ให้มีการออกกฎหมายรองรับการจัดตั้งองค์กรร่วมฯ ขึ้นมาในทั้งสองประเทศ โดยมีสาระสำคัญในกฎหมายเหมือนกัน และมีผลบังคับใช้พร้อมกันด้วย
    3. ในองค์กรร่วมฯ จะมีการบริหารงานในระบบกรรมการร่วม (Board) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลแต่ละฝ่าย ฝ่ายละ 7 คน เท่ากัน
  2. อำนาจหน้าที่ขององค์กรร่วมฯ
    1. ควบคุมการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตในพื้นที่พัฒนาร่วมและกำหนดนโยบายสำหรับการควบคุม
    2. พิจารณากำหนดโครงสร้างองค์กรขององค์กรร่วมฯ และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ พนักงาน ฯลฯ
    3. พิจารณากำหนดแผนงานและการปฏิบัติการสำหรับการจัดการพื้นที่พัฒนาร่วม
    4. อนุมัติและทำนิติกรรมหรือสัญญาสัมปทานใด ๆ ในพื้นที่พัฒนาร่วม ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของรัฐบาลทั้งสอง
    5. ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ดำเนินการในเขตพื้นที่พัฒนาร่วม
    6. กำหนดรูปแบบการทำสัญญาสัมปทานที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมให้เป็นแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contact)
  3. อำนาจหน้าที่ขององค์กรร่วมฯ
    1. ให้ผู้ได้รับสัญญาชำระค่าภาคหลวงในอัตราร้อยละ 10 ของผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดแก่องค์กรร่วมฯ
    2. ให้ผู้รับสัญญาหักค่าใช้จ่ายสำหรับการประกอบกิจการปิโตรเลียมได้ในอัตราร้อยละ 50
    3. ให้แบ่งกำไรระหว่างองค์กรร่วมฯ กับผู้ได้รับสัญญาในจำนวนเท่า ๆ กัน หลังจากหักค่าใช้จ่ายและส่วนแบ่งกำไร
    4. ให้ผู้ได้รับสัญญาจ่ายเงินบำรุงการวิจัยอัตราร้อยล่ะ 0.5 ของผลรวมค่าใช้จ่ายและส่วนแบ่งกำไร
    5. ผู้ได้รับสัญญาต้องชำระอากรขาออกของน้ำมันที่ส่งออกในอัตราร้อยละ 10 ของส่วนแบ่งกำไรที่เป็นน้ำมัน
  4. การเงิน
    1. ค่าใจจ่ายและผลประโยชน์ขององค์กรร่วมฯ ให้รัฐบาลทั้งสองประเทศรับภาระและแบ่งปันเท่า ๆ กัน
    2. ให้มีกองทุนเพื่อการใช้จ่ายในการดำเนินงานขององค์กรร่วมฯ
    3. ให้มีการจัดทำงบประมาณ บัญชี และรายงานผลต่อรัฐบาลทุกปี
  5. ภาษีอากร
    1. หน่วยงานของศุลกากรและสรรพสามิตของแต่ละประเทศยังคงใช้อำนาจตามกฎหมายของแต่ละฝ่ายต่อไปได้ เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสินค้าเข้าหรือส่งออกไปในบริเวณพื้นที่ร่วมพัฒนาร่วม ภายใต้ข้อบังคับต่อไปนี้
      1. สินค้าที่ได้รับความเห็นชอบทางศุลกากร รวมไปถึงเครื่องมือเครื่องใช้และวัสดุสิ่งของสำหรับใช้ในพื้นที่ร่วมพัฒนาร่วมจะได้รับการยกเว้นอากร
      2. กรณีที่สินค้าอยู่ในข่ายที่ต้องเก็บภาษีอากรตามกฎหมายศุลกากรของทั้งสองประเทศ แต่ละประเทศต้องลดอากรที่จะเรียกเก็บลงร้อยละ 50
      3. สินค้าที่นำเข้าไปในพื้นที่พัฒนาร่วม จากประเทศที่สามและคลังสินค้าใด ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ถือว่าเป็นสินค้าขาเข้า
      4. สินค้าที่นำเข้าไปในพื้นที่พัฒนาร่วม จากประเทศมาเลเซียหรือประเทศไทย ให้ถือว่าเป็นการเคลื่อนย้ายภายใน
      5. สินค้าที่ผลิตในพื้นที่ร่วมและนำเข้ามาในประเทศไทยหรือมาเลเซียหรือประเทศที่สาม ให้ถือว่าเป็นสินค้าออก
    2. สินค้าต้องห้ามตามกฎหมายของประเทศไทยและมาเลเซีย จะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปในพื้นที่พัฒนาร่วม
    3. ให้หน่วยงานศุลกากรของทั้งสองประเทศใช้แบบฟอร์มสำแดงรายการแบบเดียวกัน กล่าวคือ แบบฟอร์ม JDA 1ใช้สำหรับการนำเข้า, JDA 2 ใช้สำหรับการส่งออก และ JDA 3 ใช้สำหรับการเคลื่อนย้ายภายใน
    4. ประเทศอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ขององค์กรร่วมฯ จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรอีกประเทศหนึ่งใช้อำนาจของตนในส่วนที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากร รวมทั้งการเก็บอากรและภาษีภายในบริเวณที่ทำการศุลกากรร่วม
    5. ในกรณีที่มีการกระทำผิด เกิดขึ้นในพื้นที่พัฒนาร่วมให้ถือปฏิบัติดังนี้
      1. หากการกระทำผิดนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพียงประเทศเดียวให้ประเทศที่อ้างว่ากฎหมายของตนถูกละเมิดสิทธิ์ เข้าใช้เขตอำนาจเหนือความผิดที่เกิดขึ้น
      2. หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ ให้ประเทศซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของตนเป็นผู้ทำการจับกุมหรือยึดเป็นคนแรกมีสิทธิเข้าใจเขตอำนาจเหนือความผิดนั้น
      3. หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ และเจ้าพนักงานของทั้งสองประเทศได้เข้าไปจับกุมหรือยึดพร้อม ๆ กัน ให้ทั้งสองหน่วยงานของทั้งสองประเทศ หารือกันถึงเขตอำนาจเหนือความผิดนั้น
    6. ให้มีคณะกรรมการศุลกากรร่วม ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งเพื่อประสานงาน ด้านการดำเนินการตามกฎหมายศุลกากรในพื้นที่พัฒนาร่วม
    7. ให้จัดตั้งที่ทำการของคณะกรรมการศุลกากรร่วม ขึ้นในสำนักงานใหญ่ขององค์กรร่วมฯ เพื่อประสานงานด้านการดำเนินการตามกฎหมายศุลกากรในพื้นที่พัฒนาร่วม
    8. ให้แบ่งเขตอำนาจ (Jurisdiction) ทางอาญาและทางแพ่งในพื้นที่พัฒนาร่วม โดยให้ประเทศไทยใช้อำนาจในคดีอาญาและคดีแพ่งตามกฎหมายไทยบนเขตพื้นที่ครึ่งบนของพื้นที่พัฒนาร่วม และให้ประเทศมาเลเซียใช้อำนาจในคดีอาญาและคดีแพ่งตามกฎหมายมมาเลเซียบนเขตพื้นที่ครึ่งล่างของพื้นที่พัฒนาร่วม ทั้งนี้ยกเว้นในเรื่องของศุลกากรและภาษีอากร
    9. กำหนดให้ศาลจังหวัดสงขลา ศาลแพ่งและศาลอาญา มีอำนาจพิจารณาคดีความที่เกิดขึ้นในพื้นที่พัฒนาร่วม
    10. การเก็บภาษีอากร จากเงินได้ของผู้ได้รับสิทธิสำรวจให้เป็นตามอัตรา ดังนี้
      1. 8 ปีแรก อัตราร้อยละ 0 ของกำไรสุทธิ 7 ปีถัดไป อัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ปีต่อ ๆ ไป อัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ
    11. องค์กรร่วมฯ จะได้รับการยกเว้นจากการถูกเรียกเก็บภาษีทั้งปวง
  6. เบ็ดเตล็ด
    1. ให้อายุของความตกลงว่าด้วยธรรมนูญฯ นี้ มีผลเท่ากับอายุของบันทึกความเข้าใจไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2522 กล่าวคือเท่ากับ 50 ปี
    2. ความตกลงฯ นี้ ไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อสิทธิในด้านประมงในท้องน้ำเหนือพื้นที่พัฒนาร่วม ที่แต่ละประเทศมีอยู่เดิม
 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 18 ตุลาคม 2559 11:06:08
จำนวนผู้เข้าชม : 6,543
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
เลขที่ 5/4 ถนนชลเจริญ ตำบลบ่อยาง
อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา 90000
หมายเลขโทรศัพท์ : 0-7430-7039, 0-7430-7040
อีเมล์ : 75000000@customs.go.th

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
ลิขสิทธิ์ 2015 สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลกากร